ประเด็นร้อน

จวกรัฐฝันให้สื่อเป็น 'หมาเชื่อง' 'วิษณุนัดถกนักข่าว'

โดย ACT โพสเมื่อ May 04,2017

  ผู้จัดการรายวัน360 - "บิ๊กตู่" อวยพรวันสื่อโลก ขอสร้างสมดุล-ลดความขัดแย้ง เปิดทางติติงรัฐได้ แต่ขอให้อยู่ในกรอบ อย่าคิดล้มทุกอย่าง ด้าน "วิษณุ" เตรียมเชิญสื่อ ถกร่าง พ.ร.บ.คุมสื่อ นักวิชาการ ม.หอการค้า ชี้เจตนารัฐคุมสื่อ เพื่อให้เป็น "หมาเชื่อง" "สุทธิชัย หยุ่น" ปลุกสำนึกคนสื่อให้ทำงานเพื่อป้องสิทธิประชาชน ไม่จำเป็นต้องไปเชื่อมโยงกับรัฐ "อลงกรณ์" ลั่นลาออก หากสื่อฯถูก กม.ตีทะเบียน
          
วานนี้ (3 พ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวอวยพรเนื่องในวันเสรีภาพสื่อโลกว่า ขออวยพรให้สื่อมวลชนประสบความสำเร็จในการทำงาน สื่อถือเป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานของรัฐบาล และมีความสำคัญต่อประชาชน จึงอยากให้สื่อมวลชนได้สร้างความสมดุลในการทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อประชาชน อย่าได้มีความขัดแย้งซึ่งกันและกัน หลายอย่างที่เป็นส่วนดี ก็ขอให้สนับสนุน แต่ส่วนที่ไม่ดี ก็สามารถติติงได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบ เคารพซึ่งกันและกัน จึงขอให้ทุกคนในองค์กรสื่อ ประสบความสำเร็จ ทั้งหน้าที่การงาน มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ลดความขัดแย้งในสังคม
          
"สื่อควรส่งเสริมสนับสนุนรัฐบาลในสิ่งที่ดี ส่วนที่ไม่ดี ก็ติติงมา แต่จะล้มทุกอย่าง บอกว่าไม่ใช่หรือไม่ดี คงไม่ได้ เพราะต้องรับฟังทั้งหมด รัฐบาลไม่ได้บริหารด้วยผมคนเดียว เพราะผมรับฟังทุกภาคส่วน แล้วสรุปว่าจะมีนโยบายอย่างไร ไม่ใช่อยากทำอะไรก็ทำ แต่อย่างไรก็ขอให้ทุกคนมีความสุข ส่วนใครไม่มีแฟน ก็ขอให้มี แต่งงานให้ได้เร็วๆ ส่วนใครไม่แต่งงาน ก็ดีแล้ว จะได้สบายใจ"
          
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ว่าได้มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หาทางพูดคุยเพื่อหาทางออกในเรื่อง ดังกล่าวแล้ว
          
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้รับตัวร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว และได้อ่านผ่านๆ เห็นว่าร่างที่ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พิจารณา เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา จะต้องผ่านการปรับปรุง ก่อนที่จะส่งมาที่ ครม. เบื้องต้นให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ตัวร่างฉบับดังกล่าวแล้ว ส่วนการรับฟังความเห็น ต้องทำให้สอดคล้องกับ รธน. มาตรา 77 หากผู้เสนอร่างยังไม่ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น รัฐบาลก็จะเป็นผู้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย จากนั้นก็จะเชิญตัวแทนสื่อ ร่วมให้ความคิดเห็นด้วย
          
ตั้งวงชำแหละ กม.คุมสื่อฯ
          
วันเดียวกันนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ แห่งประเทศไทย จัดเวทีเสวนาเรื่อง "เสรีภาพสื่อกับอนาคตสังคมไทย" เนื่องในโอกาส วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เพื่อนำเสนอมุมมองของ นักวิชาการ และบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อการออกร่างกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
          
นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า เมื่อเกิดกรณีที่มีผู้เห็นด้วยกับการออก กม.เพื่อควบคุมสื่อฯ ตนมองว่าสื่อฯก็ควรพิจารณา และทบทวนตนเองด้วยว่า การนำเสนอข่าวช่วงที่ผ่านมานั้นมีความรับผิดชอบมากหรือน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะประเด็นที่สื่อฯ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น และหลายกรณีทำให้เกิดปัญหาต่อการนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร ขณะที่ปรากฏการณ์ของภาครัฐ ที่ต้องการควบคุมสื่อนั้น มองว่ารัฐบาลต้องการให้สื่อฯ เป็นวิชาชีพที่ว่านอนสอนง่าย หรือกลายเป็นหมาที่เชื่อง เพื่อให้รัฐสามารถควบคุมการนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้
          
นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ร่าง กม.คุมสื่อฯ ฉบับนี้ ต้องสร้างความเข้าใจที่ เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ ของการคอร์รัปชันในประเทศ และการแก้ปัญหาสังคมด้วย ทั้งนี้ เป็นห่วงว่า หากร่างกม.นี้มีผลบังคับใช้ จะกลายเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชัน และแลกเปลี่ยนผลประโยชน์บางอย่าง เพื่อให้การนำเสนอข้อมูลเป็นไปในทิศทางที่รัฐต้องการ
          
"หากจะแก้ปัญหาคอร์รัปชันให้สำเร็จ ทุกคนต้องร่วมกันบอกผู้อำนาจในรัฐบาล รวมถึงสนช.ว่า สิ่งที่อยากเห็นคือ ข่าวสารผ่านสื่อมีคุณภาพ รวมถึงข่าวสารที่ส่งผ่านในโซเชียลด้วย เพื่อให้เกิดการตรวจสอบกันและกัน เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความหวังกับการต่อสู้คอร์รัปชัน และทำให้ประชาชนเข้าร่วมปราบปรามและต่อต้านคอร์รัปชัน" เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าว
          
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) กล่าวว่า ส่วนตัวต้องการให้สื่อฯ มีสำนึกรับผิดชอบ โดยต้องสร้างกระบวนการตรวจสอบกันเองให้เกิดขึ้นจริง เพราะเมื่อทำได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายฉบับใดเข้าควบคุม ขณะที่ภาครัฐ ต้องสร้างหลักประกันว่า จะไม่ละเมิดสิทธิของสื่อฯ ต้องไม่คุกคามทั้งทางวาจา ร่างกาย หรือชีวิต หากสื่อฯได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อฯ นั้น ส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาลควรชะลอร่างกฎหมายไว้ก่อน จนกว่าจะรับฟังผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างกว้างขวาง และเขียนเนื้อหาให้สอดคล้องกับหลักการสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสากล
          
สำหรับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อฯ ที่กำหนดให้มี กสม. ร่วมเป็นกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติด้วยนั้น ตนไม่เห็นด้วย เพราะ กสม.ถือเป็นองค์กรอิสระ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจต้องตรวจสอบสื่อมวลชน หรือรับเรื่องร้องเรียนจากสื่อฯ กรณีที่ถูกละเมิด ดังนั้นเมื่อให้ กสม. เข้าร่วมเป็นกรรมการสภาฯ อาจกระทบต่อการทำหน้าที่ที่เป็นกลาง และเป็นธรรมได้
          
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวทีเสวนาดังกล่าว ได้เปิดให้ประชาชน และผู้สื่อข่าวที่เข้าร่วมงาน ได้แสดงความคิดเห็นด้วย โดยนายสุทธิชัย หยุ่น ผู้สื่อข่าวอาวุโส เครือเนชั่น ได้แสดงความเห็นว่า เจตนาของร่าง กม.คุมสื่อฯ คือ ต้องการควบคุมทุกคนในสังคมไทย ซึ่งหมายถึงประชาชนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ไม่เฉพาะคนที่ทำอาชีพสื่อฯ เท่านั้น ซึ่งกรณีดังกล่าว ตนมองว่าผู้มีอำนาจไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงข้อมูลข่าวสารในยุคปัจจุบัน เพราะผู้ที่ส่งข่าวสารนั้น ไม่จำกัดเฉพาะบุคคลในองค์กรสื่อฯ ผู้ทำอาชีพนักข่าว ช่างภาพ หรือบรรณาธิการเท่านั้น แต่บุคคลที่มีหลักปฏิบัติ ซื่อสัตย์ในข้อเท็จจริง และมีจริยธรรม สามารถเป็นสื่อมวลชนได้ทั้งสิ้น
          
ดังนั้น หากร่าง กม. จะกำหนดคุณสมบัติผู้ทำอาชีพสื่อ ตนคิดไม่ออกว่าคุณสมบัติข้อแรก คืออะไร หากกำหนดว่า ต้องจบการศึกษาด้านวารสารศาสตร์ หรือ นิเทศศาสตร์ จะเป็นไป ไม่ได้
          
"การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสื่อปัจจุบัน มีผลกระทบทิศทางของคนทำอาชีพข่าวมากพอสมควร เสรีภาพสึกกร่อนด้วยทุนนิยม กติกาที่ออกมา เช่น ดิจิตอลทีวี หรือควบคุมออนไลน์ด้วยกฎหมายคอมพิวเตอร์ ทำให้ความเข้มข้นของคนทำสื่อฯ แผ่วลงไป ดังนั้น สิ่งที่ต้องยืนยันร่วมกันคือ หน้าที่ของนักข่าวรุ่นต่อๆ ไป ต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างความตระหนักในการปกป้องเสรีภาพ และเพื่อปกป้องสังคมโดยรวม" นายสุทธิชัย กล่าว
          
ส่วนกรณีที่มีผู้บอกว่า สื่อมวลชนดูแลกันเองไม่ได้นั้น ตนมองว่าไม่มีอาชีพไหนที่สามารถปกป้องคนร่วมอาชีพไม่ให้ทำชั่วได้ อย่างอาชีพนักการเมือง หมอ หรือแม้แต่วิชาชีพสื่อ ดังนั้น ไม่ว่าจะตั้งกฎอะไร ต้องมีคนทำผิดกฎ ส่วนที่ระบุว่า ลงโทษไม่ได้ เพราะลาออกจากองค์กรสื่อมวลชนนั้น ถือเป็นเรื่องปกติของความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สังคมต้องเป็นผู้ตัดสินและรับรู้ว่า เมื่อไม่ยอมเล่นตามกติกา สังคมจะมีบทเรียนกับสื่อดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่การให้รัฐบาลหรือคนกลุ่มใดในกฎหมายฉบับใดที่ตัดสินหรือเข้ามาปกครอง
          
"ส่วนที่นายกฯ ระบุว่า ต้องให้สื่อมวลชนร่วมคิดวิธีปกครองกันเอง ที่เชื่อมโยงกับรัฐ ผมมองว่าสิ่งที่สื่อมวลชนจะเชื่อมได้มีเพียงจุดเดียว คือการเชื่อมโยงประชาชน โดยไม่จำเป็นเชื่อมโยงกับรัฐบาล เพราะสื่อถือเป็นตัวแทนของประชาชน ดังนั้น หากจะมีการปกครองกันเอง ต้องผ่านการตรวจสอบโดยประชาชน ไม่ใช่ผู้มีอำนาจ ทั้งนี้เสรีภาพของข่าวสาร และทำให้สังคมดีขึ้น คือการปฏิรูปที่ทำให้ดีขึ้น ไม่ใช่การควบคุมหรือกำกับ" นายสุทธิชัย กล่าว
          
นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. กล่าวยืนยันว่า ร่าง กม. ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพฯ ไม่มีประเด็นเรื่องการตีทะเบียนสื่อมวลชนอย่างแน่นอน เนื้อหาโดยรวมนั้น เพื่อส่งเสริมด้านมาตรฐานวิชาชีพ และให้ทำงานภายใต้กรอบจริยธรรม ดังนั้น ขอให้สื่อมวลชนติดตามรายละเอียดด้วย อย่างไรก็ตาม หากการออกกฎหมายดังกล่าว มีผลลัพธ์ที่ทำให้สื่อมวลชนถูกตีทะเบียน ตนพร้อมจะลาออก.

- - สำนักข่าว ผู้จัดการรายวัน วันที่ 4 พฤษภาคม 2560 - -